วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ค้าปลีกไทยจะอยู่รอด?



ค้าปลีกไทยจะอยู่รอดอย่างไร


หลังจากร่าง พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ถูกตีกลับสองครั้งสองครา โดยครั้งหลังสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงพาณิชย์ผู้เป็นเจ้าของเรื่องนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับไปทบทวนใน 2 ประเด็น คือ
1.การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยเฉพาะในเรื่ององค์ประกอบที่มาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการระดับจังหวัด รวมถึงอำนาจของคณะกรรมการฯค่อนข้างครอบจักรวาล
2. มาตรการจัดระบบค้าปลีกค้าส่ง ก็ควรที่จะมีการกำหนดให้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจ ควรจะมีการกำหนดระยะห่างจากแหล่งชุมชนสำหรับค้าปลีกขนาดใหญ่และขนาดย่อม
ซึ่งล่าสุดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็น โดยเชิญตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นักวิชาการ ผู้ประกอบการรายเล็ก กลาง และใหญ่ สมาคมผู้เกี่ยวข้อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แล้วที่ขาดไม่ได้กลุ่มสมาพันธ์ต้านค้าปลีกข้ามชาติ
เพื่อเก็บเอาข้อเสนอแนะที่แต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นออกมา ไปกลั่นกรองแล้วนำไปปรับปรุงร่างกฎหมายคุมค้าปลีกค้าส่งอีกครั้ง ก่อนจะส่งกลับไปให้ ครม.พิจารณาอีกครา ซึ่งไม่มีใครสามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ที่ผ่านการปรับปรุงใหม่อีกรอบ เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะผ่านหรือจะแป๊กอีกหน

ขณะที่กลุ่มต่อต้านค้าปลีกต่างชาติที่รวมตัวกันในนามสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกข้ามชาติ
ดูเหมือนขีดความอดทนค่อนข้างลดน้อยถอยลงตามลำดับ ยิ่งกฎหมายฉบับนี้ยืดเยื้อออกไปเท่าไรก็ยิ่ง
ไม่มีความพึงพอใจ โดยพันธุ์เทพ สุลีสถิร ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม ประกาศกร้าวหากข้อเสนอของกลุ่มไม่ได้รับการตอบสนอง และครม.ไม่ผ่านร่างอีก จะเดินหน้าสู้บนเวทีกฎษฎีกา และ สนช. อย่างไรก็ตาม ยิ่งกฎหมายฉบับนี้ยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร ร้านค้าปลีกสายพันธุ์ไทยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการขนาดเล็ก ยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และถึงจะผ่าน ครม.แล้วก็ตาม ยังต้องฝ่าด่าน สนช. จึงจะมีผลบังคับใช้
กว่าจะถึงวันนั้นไม่รู้จะมีค้าปลีกไทยหรือร้านโชวห่วยหลงเหลืออยู่จำนวนเท่าไร

สำหรับปัญหาค้าปลีกข้ามชาติรุกไล่กลืนกินค้าปลีกไทยนี้หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยค้าปลีกไทยให้อยู่รอด นอกจากจะรีบเร่งเข็น พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ให้ออกมาโดยเร็วแล้ว อีกทางหนึ่งจัดตั้งองค์กรที่จะมาทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาสินค้าราคาต่ำมาบริการให้กับร้านค้าปลีกของคนไทย เพื่อจะได้แข่งขันกับค้าปลีกสมัยใหม่ของทุนข้ามชาติได้ ในรูปแบบของร้านค้าปลีกแบบพอเพียง

โดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาต้องว่าจ้างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกเข้ามานั่งบริหาร
พร้อมกันนี้จะต้องดึงซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆ เช่น เครือสหพัฒน์ ยูนิลีเวอร์ พีแอนด์จี และคาโอ เข้ามาให้การสนับสนุนองค์กรที่กล่าวมา

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนจะตั้งองค์กรที่ชื่อเออาร์ที ขึ้นมาช่วยค้าปลีกไทย และใช้งบประมาณไปแล้วร่วมๆ 1,000 ล้านบาท แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ส่วนหนึ่งกูรูในวงการตลาดให้ความเห็นว่ารัฐต้องอัดเม็ดเงินลงมามากกว่านั้นอีกสัก 4-5 เท่าตัว จะได้จ้างมืออาชีพที่เก่งๆ เข้ามาบริหาร

ที่สำคัญถ้าซัพพลายเออร์เข้ามาร่วมโครงการ ต้องบริหารทุกรายมีความเสมอภาคกัน ไม่ใช่น้ำหนักกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากไป ก็จะไม่เกิดผล
ที่มา จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2210 19 เม.ย. - 21 เม.ย. 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น