วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเลือกใช้ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือ “อาหารเสริม”

เรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือที่เคยเรียกกันในชื่อเดิมว่า “อาหารเสริม” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่สนใจในหมู่ชุมชนคนรักสุขภาพ

ด้วยความหวังว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น หรือช่วยเสริมสร้างความงามให้สวยและดูอ่อนกว่าวัย หรือช่วยรักษาทรวดทรงให้สวยเพรียวลม ฯลฯ ด้วยความเชื่อและความหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะมีคุณประโยชน์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูญเสียไป หลายคนใช้แล้วได้ผลดี ในขณะที่อีกหลายคนเช่นกันใช้แล้วไม่ได้ผล จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการเลือกใช้ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือ “อาหารเสริม” ไว้พอสังเขป ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตามกฎหมายจัดให้เป็นกลุ่มเดียวกับอาหารและไม่ได้จัดว่าเป็นยา ทั้งนี้เพราะยังไม่มีการศึกษาหรือมีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันว่า ได้ผลดีและผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร? ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเทียบได้เท่ากับอาหารทั่วไปที่เรารับประทานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้เกิดพลังงาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมสร้างการเจริญเติบโตให้กับร่างกายของเรา ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในทางยาที่ช่วยในการป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพที่พวกเราประสบกันอยู่
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้มักจะอาจมีการศึกษาหรือมีหลักฐานทางการแพทย์ที่ไม่ดีเพียงพอมายืนยันว่า ได้ผลดีและผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร? แต่อาจจะมีเฉพาะการศึกษาในสัตว์ทดลอง เช่น หนู ลิง หรือกระต่าย เป็นต้น ซึ่งการที่ได้ผลดีต่อสัตว์เหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่าจะใช้ได้ผลดีในมนุษย์ เพราะ “มนุษย์ไม่ใช่สัตว์” และถ้าได้ผลดีในมนุษย์ก็ควรมีการศึกษาในมนุษย์เพื่อยืนยันความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนั้นที่ชัดเจนเสียก่อน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือผู้ผลิตหลายรายพยายามนำผลการศึกษามาอ้างอิงว่ามีการศึกษาในคนแล้ว ในเรื่องนี้ควรพิจารณาถึงจำนวนคนหรือที่นิยมเรียกว่า “จำนวนตัวอย่าง” ที่ใช้ในการศึกษานั้นๆ ด้วย เพราะการที่ได้ผลในคน 5-10 คน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลในทุกคน เพราะในอดีตมียาหลายชนิดที่จะเห็นผลชัดเจนก็ต่อเมื่อได้ใช้ในผู้ป่วยเป็นพันเป็นหมื่นคนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ยาคลอแรมเฟนนิคอล ที่พบว่าเป็นพิษต่อเลือดชนิดรุนแรง และทำให้เสียชีวิตทุกราย ซึ่งพิษนี้จะพบในผู้ที่ใช้ยาเพียง 1 หรือ 2 รายเท่านั้น จากผู้ใช้ยาทั้งหมดประมาณหนึ่งหมื่นคน เป็นต้น ดังนั้นจำนวนคนที่ศึกษาจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะคุณอาจจะเป็น “หนึ่งในหมื่น” ก็เป็นได้
3. เมื่อมองในเชิงธุรกิจมีส่วนสำคัญทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่รู้จัก คุ้นเคย และเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางทั้งทางโฆษณาตามสื่อต่างๆ และการขายตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางธุรกิจเพื่อผลกำไรหรือส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้การถ่ายทอดข้อมูลแต่เฉพาะผลดี โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

สรุปว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเช่นอาหารไม่ใช่ยา ควรศึกษาถึงผลดีและผลเสียให้ครบถ้วน เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจโดยมีกำไรเป็นผลตอบแทน เพราะต้องการให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพจริงๆ ไม่ได้เป็นปัญหาเป็นพิษต่อตับ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายของเราที่ประมาณค่ามิได้ แถมยังต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนความรู้สึกที่ถูกหลอก (แต่เฉยไว้ตามแบบไทยไทย) แต่ก็มีเหลือเล็ดรอดออกมาเป็นข่าวบ้างบางระยะ
ในส่วนลึกของจิตใจที่เป็นเภสัชกรก็อยากให้มีการคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพร่างกายจริงๆ ออกมารับใช้สังคมให้มากขึ้นๆ จึงอยากฝากข้อคิดเหล่านี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างไรก็ตามถ้าคุณมีข้อสงสัยในเรื่องเล่านี้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ครับ

ที่มา
“โครงการล้านคำถามเรื่องยา ปรึกาาเภสัชกร โดบความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม กับ อย.”

อาหารเสริมเลือกอย่างไร

อาหารเสริมเลือกอย่างไร

คำถามตามหัวข้อข้างต้นนั้น ผู้เขียนได้มาจากอี-เมล์ของท่านผู้ฟัง อันที่จริงมีอยู่สองคำถามด้วยกัน คำแรกคือ อยากได้คำแนะนำว่า หากต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องเลือกอย่างไรโดยไม่เป็นเหยื่อบริษัท ส่วนคำถามที่สองมีว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีผลข้างเคียงหรือเปล่า เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักไม่นิยมเขียนเตือนผู้บริโภคไว้

ที่บอกว่าเป็นท่านผู้ฟังมิใช่ผู้อ่าน ก็เพราะท่านผู้เขียนคำถามมีโอกาสไปฟังผู้เขียน บรรยายเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสถานที่ราชการแห่งหนึ่งจึงได้เขียนคำถามมา เมื่อมีคำถามและเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยรวม จึงขอตอบไว้ ณ ที่นี้ โดยผู้เขียนได้ขอให้ผู้ตั้งคำถามท่านนั้นมาหาอ่านเอาเองที่ 'เนชั่นสุดสัปดาห์'

ก่อนอื่น เห็นทีพวกเราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายหรือนิยามของคำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสียก่อน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย. ขอให้เรียกผลิตภัณฑ์พวกนี้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เดิมทีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้นิยมเรียกกันว่าอาหารเสริม หรืออาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งไม่ถูกต้อง อ.ย.จึงต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงของมัน

นิยามของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีบอกไว้ว่าหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ ซึ่งมักอยู่ในรูปลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น และมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติมิใช่สำหรับผู้ป่วย

หากผลิตภัณฑ์เป็นของเหลวจะต้องเป็นของเหลวที่บริโภคโดยไม่มุ่งหมายเพื่อให้รสชาติ หรือบริโภคในลักษณะต่างจากเครื่องดื่มทั่วไป เช่น ครั้งละ 10 มิลลิลิตร หรือเป็นของเหลวข้นสำหรับหยดใส่น้ำหรือน้ำผลไม้เพื่อมุ่งหมายในการให้สารบางอย่าง จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ในนิยามข้างต้นนั้น มีประโยคที่อาจจะฟังเข้าใจยากอยู่สักหน่อยสองสามประโยค อย่างเช่นประโยคที่ว่า 'ใช้รับประทานโดยตรง' ประโยคนี้ไม่ใช่หมายความว่ารับประทานทางปาก เพราะมันก็ต้องรับประทานทางปากอยู่แล้ว แต่หมายความว่าสามารถรับประทานได้เลย ไม่ต้องนำไปปรุงไปต้มไปหุงให้ต้องเสียเวลาอีก เปิดขวดแล้วก็หยิบใส่ปากรับประทานได้ทันที หากเป็นผงหรือเป็นน้ำก็สามารถรับประทานได้ทันทีเหมือนกัน

ประโยคที่สองคือ 'นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ' หมายความว่าทาง อ.ย. แนะนำให้บริโภคอาหารหลักหรืออาหารปกติเสียก่อน เมื่อบริโภคอาหารหลักประจำวันแล้ว ยังรู้สึกว่าตนเองขาดสารอาหารบางตัวจึงจะรับประทานผลิตภัณฑ์พวกนี้ อ.ย.ไม่แนะนำให้บริโภคอาหารประเภทนี้แทนอาหารหลัก จึงไม่สมควรอย่างยิ่งหากจะเลิก หรือลดอาหารหลักแล้วนำเอาผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เข้ามาแทน
เป็นเพราะประโยคที่สองนี่เองที่ทำให้มันมีชื่อเรียกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นั่นคือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เสริมอาหารหลัก หากอาหารหลักให้สารอาหารไม่เพียงพอ ก็เติมสารอาหารเข้าไปในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ประโยคที่สามคือ 'สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติมิใช่สำหรับผู้ป่วย' หมายความว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นไม่แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ แต่ให้ใช้กับคนปกติที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพ ส่วนใครที่ป่วยเขาแนะนำให้ไปพบแพทย์ให้ใช้ยาในการรักษา ไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มนี้แทนยา เพราะมันไม่ใช่ยา
เมื่อเข้าใจนิยามของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว เราลองมาดูกันว่าหากต้องการจะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว จะเลือกอย่างไร

ประการแรกคือ เลือกเมื่อรู้สึกว่าขาดหรือต้องการสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นคนชอบกินอาหารไขมันสูง มีปัญหาไขมันสูงในเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไขมันกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ และรู้ว่าการกินปลาทะเลจะทำให้ได้รับกรดไขมันกลุ่มโอเมก้าสาม ซึ่งช่วยลดไขมันกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ แต่ปรากฏว่าเราไม่กินปลาทะเลเพราะไม่ชอบกลิ่นคาวของมัน หากเป็นอย่างนี้จะลองซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำมันปลาทะเลมารับประทานก็ได้ หรือเราไม่ชอบดื่มนม กระดูกปลาเล็กปลาน้อยก็ไม่กิน ผักใบเขียวเข้มก็ไม่ชอบ อย่างนี้อาจจะเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียมและสารอาหารบำรุงกระดูก หากกลัวว่าจะเกิดปัญหากระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุน จะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทแคลเซียมมาเสริมนอกเหนือจากอาหารก็ได้ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมทดแทนจากที่ขาด

หากเป็นคนไม่ชอบรับประทานพืชผักผลไม้ เกรงว่าตนเองอาจจะขาดวิตามิน หรือสารพฤกษเคมีอาจจะเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทวิตามินรวม หรือประเภทสารสกัดจากพืชผักผลไม้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความรู้สึกว่าเราขาดสารอาหาร แต่หากสามารถกินอาหารได้ตามปกติอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะต้องไปเสียสตางค์ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากินให้สิ้นเปลืองเพราะผลิตภัณฑ์พวกนี้มักมีราคาแพง และมักจะแพงกว่าคุณค่าจริงที่มันมีอยู่ เหตุที่แพงก็เพราะมันเป็นอาหารแฟชั่นก็เท่านั้นแหละไม่มีเหตุผลอื่น รู้ๆ กันอยู่ว่าราคาของแฟชั่นหรือของค่านิยมมักจะแพงเกินเหตุเสมอ
จะเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร หลังจากที่มั่นใจแล้วว่าเราขาดสารอาหารบางตัว หรือมีความต้องการสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติม

ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาที่ผลิตภัณฑ์ เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้เลือกอยู่มากมาย ส่วนใหญ่มีผู้จำหน่ายมานำเสนอขายกันถึงบ้านหรือที่ทำงานเลยด้วยซ้ำ บางบริษัทจัดระบบการขายแบบเอ็มแอลเอ็ม บางบริษัทก็ขายแบบแชร์ลูกโซ่ จะระบบไหนก็ตามแต่ ขอให้รับทราบว่าผู้จำหน่ายล้วนแต่ทำกำไรกันเป็นกอบเป็นกำทั้งนั้น
จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กับใคร ก็ขอให้เริ่มต้นด้วยการพิจารณาพฤติกรรมของผู้จำหน่ายก่อน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจัดเป็นอาหาร และอาหารนั้นไม่มีชนิดไหนหรอกที่จัดเป็นอาหารมหัศจรรย์ จะมีก็แต่ประเภทบัวหิมะพันปีในภาพยนตร์จีนกำลังภายในเท่านั้น
ดังนั้น หากมีผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์คนไหนนำเสนอผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมหัศจรรย์ ที่มีการให้ข้อมูลว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัด ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และอีกสารพัดโรค ทั้งเสริมโปรตีน เสริมสารอาหารมากมายอย่างที่หลายผลิตภัณฑ์ชอบโฆษณาอวดอ้างกัน ก็ขอแนะนำให้ปฏิเสธผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในทันที เพราะมีหลักฐานยืนยันแทบจะร้อยทั้งร้อย ว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้หลอกลวงผู้บริโภค

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดไหนที่แนะนำให้บริโภคกันให้มาก โดยให้ข้อมูลในเชิงสนับสนุนว่า ยิ่งบริโภคมากก็จะยิ่งมีประโยชน์ อย่างเช่นที่เห็นกันในตลาดมีผลิตภัณฑ์โปรตีนหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งประเภทสาหร่ายหรือโปรตีนจากถั่วบ้าง จากปลาทะเลลึกบ้าง แนะนำกันว่าหากบริโภคมากจะทำให้ผิวสวย หน้าสวย หน้าเด้ง ผิวเด้งเต่งตึง อะไรทำนองนั้น ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ขอให้หลีกให้ไกล
แคลเซียมบางผลิตภัณฑ์ มีผู้จำหน่ายจำนวนหนึ่งแนะนำให้บริโภคกันมากๆ โดยอ้างว่าเพื่อเร่งการสะสมแคลเซียมในกระดูก ผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาหรือกระเทียมที่มีการแนะนำให้บริโภคกันมากๆ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แนะนำให้บริโภคกันจนเกินเหตุ ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาหรือทำการขายในลักษณะนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

การแนะนำให้บริโภคมากๆ เกินข้อกำหนดที่ทาง อ.ย.กำหนดไว้อย่างนี้ หลายผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพมักจะเป็นนโยบายของบริษัทซึ่งกำหนดให้ผู้จำหน่ายออกมา ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์กันทำนองนั้น หลบเลี่ยงการตรวจสอบของ อ.ย. เพราะเป็นการจำหน่ายตรงที่ตรวจสอบได้ยาก
บางผลิตภัณฑ์ทางบริษัทอาจจะไม่มีนโยบายให้ผู้จำหน่ายไปค้าขายกันเกินเหตุ แต่ผู้จำหน่ายบางกลุ่มบางสายที่เห็นแก่ได้ หัวหน้าสายเที่ยวไปกระตุ้นให้ลูกสาย ทำการโฆษณากันจนเกินเลยโดยไม่คิดถึงประโยชน์ของผู้บริโภค หากมีโอกาสเจอะเจอผู้จำหน่ายไร้จรรยาบรรณอย่างนี้ ก็ขอแนะนำให้หลีกหนีไปไกลๆ น่าจะดีกว่า อีกประเภทหนึ่งที่ขอแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงเข้าไว้คือ ผลิตภัณฑ์ประเภทที่ไม่ใช่วิตามินหรือสารอาหาร แต่เป็นประเภทสารสกัดจากผักบ้างผลไม้บ้าง แต่ไม่มีกระบวนการสกัดที่ชัดเจน หรือไม่มีเทคโนโลยีในการสกัด แต่นำเอาผักบ้างผลไม้บ้างหรือสมุนไพรมาใช้กันตรงๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทส้มตากแห้ง ส้มแขกตากแห้ง ลูกยอหรือธัญพืชที่นำมาใช้กันตรงๆ หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนไม่ได้ หากเป็นอย่างนี้ก็ขอให้หลีกหนีเข้าไว้

ผลิตภัณฑ์ที่อ้างเหตุผลว่าคนโน้นกินแล้วหาย คนนี้กินแล้วดี ซึ่งนับเป็นเหตุผลในเชิงวิชาการไม่ได้เลย ยิ่งเป็นการนำเอาดาราบ้าง คนที่รู้จักกันทั่วไปมาโฆษณาสรรพคุณกันจนเกินเลย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการอวดอ้างสรรพคุณกันเกินจริง ประเภทนี้ก็ต้องขอให้เลี่ยง
ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่ผู้บริโภคควรจะอยู่ห่างๆ คือผลิตภัณฑ์จากโรงงานที่ด้อยคุณภาพ มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์จากบ้านบ้าง ชุมชนบ้าง ที่ไม่มีมาตรฐาน ส่วนใหญ่มักจะไม่มี อ.ย. หรือหากเป็นยุคก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรฐาน GMP ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อาจจะได้ อ.ย. แต่ส่วนใหญ่เป็น อ.ย.ส่วนภูมิภาคที่ขาดเจ้าหน้าที่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้รับ อ.ย.มาได้อย่างไร ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ขออย่าได้ไปเกรงใจกันเลย หากหลีกหนีได้ก็ขอให้หนีไปให้พ้น

หากจำเป็นจะต้องเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เขียนแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์จากโรงงานที่ได้คุณภาพเท่านั้น คำว่าได้คุณภาพ คือได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP, ISO 9000, 14000 ยิ่งได้มาตรฐานหลายสถาบันก็ยิ่งมีคุณภาพ ไหนๆ จะต้องจ่ายสตางค์ซื้อผลิตภัณฑ์มาบริโภค ก็ขอให้เลือกที่คุณภาพเถอะ
อย่างไรก็ตาม ประการสุดท้ายที่จะต้องพิจารณาคือเรื่องของราคา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่มักจะมีราคาแพงกว่าคุณภาพและปริมาณของสารอาหารที่ได้รับ หากไม่ร่ำรวยมีเงินเหลือใช้จริงๆ ก็ขอให้เครียดกับผลิตภัณฑ์ราคาแพงให้จงหนัก คุณภาพนั้นอาจจะดีจริงแต่ราคาแพงเกินเหตุก็น่าจะต้องเลี่ยง เก็บสตางค์ไว้ทำอย่างอื่นน่าจะดีกว่า
สำหรับคำถามที่สองที่กล่าวถึงผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เห็นทีจะต้องอ่านฉลาก หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี อ.ย. ย่อมหมายความว่าเป็นผลิตภัณฑ์เถื่อน ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้ออยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมี อ.ย. รับรองไว้ จะต้องมีการระบุถึงผลข้างเคียงไว้เสมอ การบริโภคจะต้องบริโภคในปริมาณที่กำหนดไว้บนฉลาก อย่าบริโภคให้ไปมากกว่านั้น
เมื่อเป็นอาหารและบริโภคอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่มักไม่มีผลข้างเคียง เพราะมันเป็นอาหารไม่ใช่ยา ควรกังวลอย่างยิ่งก็ต่อเมื่อเผลอใจถูกหลอกให้บริโภคมากๆ เท่านั้น


[ ที่มา... เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 619-20 วันที่ 12 -25 เม.ย. 2547 ]