วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทางรอดค้าปลีก ตอนที่1 ปฐมบท



ทางรอดธุรกิจร้านค้าปลีกในปัจจุบัน
ปฐมบท



ธุรกิจร้านค้าปลีกดั้งเดิมของเรา กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากการแข่งขันจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) ที่มีสินค้าและบริการแบบครบวงจร (One stop shopping) ส่งผลกระทบ ต่อร้านค้าปลีกสมัยใหม่แต่ขนาดเล็กกว่าโดยตรง และกับร้านค้าปลีกดั้งเดิมด้วย

ทำให้มีการปรับตัวกันอย่างต่อเนือง กระแสที่ได้รับความนิยม และ พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัด ได้แก่ ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง เห็นได้จาก ปัจจุบันในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีร้านค้าที่ขายสินค้าเฉพาะทางเกิดมากขึ้น เช่น ร้านขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ร้านขายเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ห้างที่ขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าสมัยใหม่ที่เป็นสมาชิกของแฟรนไชส์ สำหรับร้านในย่านชุมชนการค้า หรือ ในเมือง ร้านขายสินค้าและบริการต่าง ๆ แบบStand alone เกิดขึ้นจำนวนมาก อาทิ แฟรนไชส์ของร้านขายแว่นตา แฟรนไชส์ของร้านปะยางและตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ฯลฯ

ลักษณะเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของระบบค้าปลีกสมัยใหม่ คือ จำนวนและความหลากหลายของสินค้า ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการในห้างขนาดใหญ่ลดลง อาทิ ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าได้ง่าย
และการเดินทางมาซื้อสินค้าที่ห้างขนาดใหญ่ยังทำให้สะดวก ต้นทุนการเดินทางลดลง

แนวทางหนึ่งที่ร้านค้าปลีกดั้งเดิมจะแก้ไขความเสียเปรียบดังกล่าว และ สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้ คือ การปรับตัวสู่ร้านเฉพาะทาง แต่การสร้างรูปแบบร้านเฉพาะทางไม่ง่ายนัก เพราะต้องมีรวมกลุ่มสินค้าที่มีคุณภาพสูง และ ความหลากหลายในกลุ่มสินค้าและบริการ (World class quality) การมีเครือข่าย หรือ สาขา หรือ การรวมตัวกันเป็น พันธมิตร เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความสะดวก และทำให้เกิดความได้เปรียบจากขนาดภายนอก (external economy of scale) ข้อควรระวังของการรวมตัวเป็นลักษณะของตลาดที่ขายสินค้าเฉพาะทางคือ การมีคู่ค้าหลายรายที่มีสินค้าในกลุ่มเดียวกันมารวมตัวกัน เพื่อจำหน่ายสินค้าในสถานที่เดียวกัน แม้ดูเหมือนจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าได้ แต่อาจส่งผลเสียต่อคู่ค้ารายมีสินค้าคุณภาพแต่ขาดประชาสัมพันธ์ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลย้อนกลับมายังผู้ประกอบการโดยตรง

ตัวอย่างคลาสิกของรูปแบบของการรวมตัว คือ “ตลาดนัด” หรือเรียกให้ร่วมสมัย คือ “มาร์เก็ตเพลส” (Market Place) อาทิ ตลาดนัดสวนจตุจักรในเขตจตุจักร ตลาดสำเพ็งในเขตสัมพันธวงศ์ ตลาดผ้าโบ้เบ้ในเขตป้อมปราบ ตลาดเสื้อผ้าประตูน้ำในเขตราชเทวี ตลาดต้นไม้ในเขตตลิ่งชัน ฯลฯ ซึ่งตลาดเหล่านี้ยังสามารถดึงดูดลูกค้าจำนวนมากและสามารถจำหน่ายสินค้าได้ แม้ต้องเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจการค้าขนาดใหญ่

การเกิดขึ้นของตลาดเฉพาะทางตามข้างต้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือ รัฐบาลและกรุงเทพมหานครควรมีส่วนในการจัดหาพื้นที่ตลาด โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมของกรุงเทพฯที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งการเจรจาขอใช้พื้นที่หรือที่ดินของหน่วยงานราชการต่าง หรือซื้อพื้นที่หรือส่งเสริมเอกชนซื้อพื้นที่เพื่อสร้างตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับประชาชนที่มาซื้อสินค้า

วิกฤตร้านค้าปลีกที่ทวีความรุนแรงขึ้น บ้านเราถนัดการออกกฎหมาย จึงมีความพยายามในการกีดกันการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ด้วยกฎหมายฉบับใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยกู้วิกฤตร้านค้าปลีกได้ คือ การสนับสนุนการรวมตัวของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกดั้งเดิม เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นตลาดเฉพาะทางในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนการรวมพลังของมดจำนวนมากที่สามารถล้มช้างได้

แล้วจะมีกลุ่มในบ้าง ที่สนใจเรื่องเหล่านี้ ตอนหน้ามาคุยกันต่อนะครับ

1 ความคิดเห็น: