วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

10 ทางออกค้าปลีกไทย

10 ทางออกค้าปลีกไทย
ที่มา http://thaicons.thainhf.org


การรุกหนักของทุนค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยขาดกฎกติกาในการสร้างดุลยภาพระหว่างทุนใหญ่และทุนเล็กอย่างเหมาะสม


ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นมาศึกษาปัญหา ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายว่าด้วยการค้าที่เป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะสถานการณ์การค้าปลีกและค้าส่งของไทย



ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม จนกระทั่งได้ข้อสรุปเป็นมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างดุลยภาพในตลาดค้าปลีกค้าส่งมา 10 ประการ คือ



1. การควบคุมการขยายสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ให้หยุดหรือชะลอการขยายสาขา เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีพื้นที่ให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมทำการค้าได้อีกแล้ว เนื่องจากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมทำเลจนเกือบหมดแล้ว โดยในการควบคุมการขยายสาขาต้องพิจารณาเรื่องต่อไปนี้
1.1 ท้องที่
ต้องกำหนดให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งอยู่นอกเขตเมืองเพื่อแบ่งพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายกัน โดยให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมตั้งอยู่ในเมือง และชุมชน ส่วนห้างค้าปลีกสมัยใหม่ตั้งอยู่นอกเมือง ซึ่งอาจจะเสียเปรียบบ้าง แต่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่มีศักยภาพในด้านอื่นๆ ที่จะสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงห้างค้าปลีกสมัยใหม่ประเภท Hyper Mart ที่ลดขนาดลงด้วย โดยห้ามห้างค้าปลีกสมัยใหม่ที่ลดขนาดลงดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องมีการจัดทำเขตวัฒนธรรมเพื่อสงวนให้เฉพาะร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมสามารถค้าขายได้ตามวิถีชุมชนที่เคยค้าขายกันมาตั้งแต่ในอดีต
1.2 จำนวน
ต้องคำนวณปริมาณพื้นที่การประกอบธุรกิจค้าปลีกเทียบกับจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีสัดส่วนห้างค้าปลีกสมัยใหม่กับร้านค้าแบบดั้งเดิม และจำนวนประชากรในพื้นที่ (economic need test) ให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
1.3 เวลาเปิด-ปิดห้างค้าปลีกสมัยใหม่
กำหนดให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่บริหารจัดการเวลาเปิดปิดทำการเอง โดยไม่ได้กำหนดเวลาเปิดปิดตายตัว แต่อาจกำหนดให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่มีเวลาเปิดบริการ เช่น 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่จำกัดวันและระยะเวลาเปิดทำการ แต่รวมแล้วทั้งสัปดาห์ต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือโชห่วยได้ค้าขายสินค้าบ้าง

2. การมีกฎหมายควบคุมการขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและให้มีประสิทธิภาพ เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีมาตรการกำกับดูแลการขยายตัวของตราสินค้าเฉพาะของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (House Brand หรือ Private Brand) เพราะจะเป็นอุปสรรคประการหนึ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ท้ายที่สุดผู้ประกอบธุรกิจผู้ผลิตสินค้ารายย่อยไม่มีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้เลย ทั้งจากปัจจัยด้านราคา ฯลฯ จะส่งผลต่อภาคการผลิตของประเทศไทยในระยะยาว นอกจากนี้ต้องมีมาตรการตรวจสอบผู้ประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542



3. การใช้มาตรการทางภาษีโดยให้ห้างค้าปลีกสมัยใหม่แต่ละสาขายื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในท้องถิ่นที่สาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่นั้นตั้งอยู่ โดยไม่ให้ยื่นชำระภาษีรวมกันที่สำนักงานใหญ่ เนื่องจากการยื่นชำระภาษีของทุกสาขารวมกันที่สำนักงานใหญ่ ทำให้ห้างค้าปลีกสามารถนำรายได้ของสาขาที่ขาดทุนมาหักค่าใช้จ่าย และเสียภาษีน้อยลง โดยต้องพิจารณาแก้ไขเรื่องดังกล่าวในประมวลกฎหมายรัษฎากร ทั้งยังต้องให้มีการนำภาษีที่เก็บได้ในแต่ละท้องถิ่นไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเปิดสาขาของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โดยอาจให้มีกองทุนให้กู้ยืม หรือช่วยเหลือ รวมทั้งอาจนำไปเป็นระบบช่วยพัฒนาร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือโชห่วยต่อไป



4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยควรให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ผู้ผลิต เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย (กรมโยธาธิการและผังเมือง) และองค์กรปกครองท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทด้วย เพื่อการประสานงานอย่างบูรณาการ



5. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยควรให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจหรือพิจารณาอนุญาตให้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ในท้องถิ่นของตนเอง เนื่องจากความต้องการและพัฒนาการของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน



6. ต้องพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภค ธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) ประกอบการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ด้วย เพื่อให้เป็นการค้าที่เสรีและเป็นธรรม โดยกำหนดให้การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่เป็นกิจการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะก่อสร้างห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ก่อนการอนุญาตให้ก่อสร้างห้างค้าปลีก รวมทั้งต้องควบคุมให้ผู้ประกอบกิจการดำนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ทั้งในเรื่องโครงสร้าง ที่จอดรถ รวมทั้งมาตรการดูแลด้านการจราจรบริเวณโดยรอบห้างฯ โดยต้องพื้นที่รองรับรถสาธารณะที่คอยให้บริการอยู่บริเวณภายนอกห้างฯ



7. ให้รัฐเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลการค้าให้เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ดูแลให้การทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ (ห้งค้าปลีกสมัยใหม่กับผู้ผลิต) เป็นธรรม โดยอาจกำหนดสัญญามาตรฐาน (vendor agreement) ให้ปฏิบัติตาม หากสัญญาไม่เป็นธรรมให้รัฐสามารถดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้เสียหาย เนื่องจากผู้ผลิตที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่กล้าดำเนินคดีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะยังต้องการทำธุรกิจกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ต่อไป



8. ให้รัฐให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในการประกอบธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยี เช่น การจัดวางสินค้า และการให้บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น



9. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ โดยควรมีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม และผู้ค้าส่ง โดยอาจนำระบบ Independent Grocery Alliance มาใช้ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม ผ่านระบบการค้าส่ง โดยเปลี่ยนระบบค้าส่งให้เป็นระบบกระจายสินค้าไปพร้อมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุน ให้มีระบบการฝึกอบรมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม ให้มีความสามารถในการประกอบกิจการที่สูงขึ้น



10. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ผู้บริโภคเข้าใจปัญหาและผลกระทบของการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม นอกจากการพิจารณาเรื่องราคาถูกเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น